ความรู้เรื่อง…น้ำกัดเท้า
น้ำกัดเท้า
น้ำกัดเท้ามักพบได้ในฤดูน้ำท่วมหรือผู้ที่ต้องสัมผัสน้ำนาน ๆ ติดต่อกันทำให้เท้าชื้นแฉะได้ง่าย ซึ่งปกติน้ำมีคุณสมบัติเป็นกลาง แต่สารที่ละลายและปนเปื้อนมากับน้ำทำให้เกิดการระคายเคืองอันเป็นที่มาของคำว่า “น้ำกัดเท้า”และยังมีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อราบริเวณเท้า ซอกนิ้วเท้าเล็บเท้าได้มากขึ้นอีกด้วย
สาเหตุ
เนื่องจากเท้าที่สัมผัสน้ำเป็นระยะเวลานานติดต่อกัน
อาการ
ลักษณะอาการของน้ำกัดเท้ามักพบว่าบริเวณซอกนิ้วเท้ามีลักษณะเป็นแผลเปื่อยยุ่ย มีฝ้าขาว อาจมีอาการคันร่วมด้วยบางรายอาจมีการอักเสบ ติดเชื้อรา หรือมีอาการแสบเวลาถูกน้ำ เป็นต้น
การวินิจฉัย
- จากการซักประวัติ เช่น ประวัติการสัมผัสน้ำบ่อย ๆ เป็นระยะเวลานานติดต่อกัน
- ลักษณะอาการทางคลินิก เช่น การตรวจดูลักษณะผิวหนังบริเวณเท้า ซอกนิ้วเท้า เล็บเท้า จากการขูดเชื้อบริเวณที่เป็นไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์
- การรักษา
- รักษาตามปัญหาที่เกิดหลังจากถูกน้ำกัดเท้าดังนี้
- หากเกิดการระคายเคือง มีอาการคันมักรักษาโดยการให้ยาทา หรือยารับประทานเพื่อบรรเทาอาการคัน ลดการระคายเคือง
- มีการติดเชื้อราที่เท้า ซอกนิ้วเท้า หรือบริเวณเล็บ รักษาโดยการให้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งมีทั้งชนิดยาทาและยารับประทาน
- หากเกิดการติดเชื้อ มีการอักเสบของผิวหนัง รักษาโดยการให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งต้องรับประทานยาต่อเนื่องติดต่อกันจนกว่ายาหมดเพื่อป้องกันภาวะดื้อยา
คำแนะนำ
- ควรป้องกันไม่ให้บริเวณเท้าสัมผัสกับน้ำเป็นระยะเวลานาน
- ใส่รองเท้าบู๊ท เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง
- หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากสัมผัสกับน้ำแล้วควรจะทำความสะอาดร่างกายโดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าให้สะอาดโดยการฟอกด้วยสบู่อ่อน ๆ ล้างล้างด้วยน้ำสะอาด และใช้ผ้าสะอาดซับให้แห้ง
- หากบริเวณซอกนิ้วเท้ามีลักษณะอาการเป็นแผลเปื่อยยุ่ยมีฝ้าขาว มีอาการคัน หรือมีอาการ ปวด บวม แดงร้อน แสบเวลาถูกน้ำ ควรไปพบแพทย์ทันที
….ด้วยความปรารถนาดีจาก….
ศูนย์โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง
กรมการแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข