โรคผิวหนังที่มาพร้อมกับน้ำท่วม
โรคผิวหนังที่ประชาชนทั่วไปมักจะคุ้นเคยและพบเสมอหลังภาวะน้ำท่วม คือ โรคน้ำกัดเท้า เป็นเพียงอาการระคายเคืองจากความเปียกชื้นและสิ่งสกปรกในน้ำ ไม่ใช่โรคเชื้อรา ซึ่งสาเหตุมาจาก การที่เดินย่ำน้ำอยู่บ่อยๆ หรือยืนแช่น้ำนานๆทำให้ผิวหนังเปื่อย แดงและคัน อาการน้ำกัดเท้าแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 เกิดการเปื่อย แดง คันและแสบบริเวณผิวหนัง โดยเฉพาะตามง่ามนิ้วเท้า และขอบเล็บ ในระยะนี้ ยังไม่มีเชื้อรา เป็นเพียงอาการระคายเคืองจากความเปียกชื้นและสิ่งสกปรกในน้ำเท่านั้น
ระยะที่ 2 เกิดบาดแผลหรือรอยฉีกขาดของผิวหนัง ถ้าปล่อยไว้นานหรือเดินย่ำน้ำและโดนสิ่งสกปรกอีกจะเกิดการติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งเชื้อแบคทีเรียจะมีอาการบวมแดง เป็นหนองปวด ถ้าติดเชื้อราจะมีอาการบวมแดง มีขุยขาวเปียก มีกลิ่นเหม็นที่ซอกเท้า
การรักษาโรคน้ำกัดเท้า
ระยะที่ 1 ควรใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ เช่น 0.02 Triamcinolone หรือ 3%vioform in 0.20% Triamcinolone cream ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองและแสบมากขึ้น
ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ผิวหนังเปื่อย/เป็นแผล จนเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ต้องให้การรักษาโดยการรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมกับการชะล้างบริเวณแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำเกลือล้างแผล แล้วทายาฆ่าเชื้อ หรือยาปฏิชีวนะ ในกรณีที่ติดเชื้อราต้องให้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทานร่วมกับการชะล้างบริเวณแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำเกลือล้างแผล และทายาฆ่าเชื้อรา
คำแนะนำสำหรับการดูแลผิวหนังหลังประสบภัยน้ำท่วม
- หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรใส่รองเท้าบูทยางที่กันน้ำ แต่ถ้าหากน้ำล้นเข้าไปในรองเท้าบูท ก็ควรถอดแล้วเทน้ำทิ้งเป็นครั้งคราว เพื่อไม่ให้มีน้ำแช่ขังในรองเท้าตลอดเวลา
- หลังเดินย่ำน้ำควรรีบทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ เช็คเท้าให้แห้งโดยเฉพาะบริเวณซอกเท้า
หากมีบาดแผลที่เท้า ไม่ควรลงไปย่ำน้ำสกปรก เพราะจะทำให้ติดเชื้อโรคโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา
Click เพื่ออ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
ด้วยความปรารถนาดีจาก ศูนย์โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
โทรศัพท์ 0-7522-5541-5