ความรู้เรื่อง…เกลื้อน

ความรู้เรื่อง…เกลื้อน

โรคเกลื้อน (Pityriasis)

เกลื้อนเป็นโรคที่พบบ่อย ลักษณะเป็นดวงขาวมีขุยบางๆ พบเป็นบริเวณแผ่นหลัง อก ต้นแขน เกลื้อนมักเป็นๆ หายๆ และเป็นได้ทุกเพศทุกวัย

สาเหตุ

เกลื้อนเกิดจากเชื้อรา ซึ่งตามปกติอาศัยอยู่ที่ผิวหนัง การติดเชื้อเกิดเมื่อผิวหนังอยู่ในสภาพที่พอเหมาะ เช่น ขณะอากาศร้อนเหงื่อออกมาก ผิวเป็นมัน ใส่เสื้อผ้าอับชื้น ใส่เสื้อซ้ำ ไม่ได้อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด

อาการ

เกลื้อนเริ่มจากเป็นวงขาวเล็กๆ ต่อมาจะลามเป็นวงขนาดใหญ่ อาจเป็นวงด่างขาว วงดำน้ำตาลหรือวงแดง มักพบบริเวณลำตัว เช่น หน้าอก ท้อง หลัง ไหล่ คอ และแขนขา ตำแหน่งที่พบบ่อยๆ คือ บริเวณที่เหงื่อออกมาก บางรายอาจมีอาการคันขณะร้อนและมีเหงื่อออกมาก

การรักษา

ใช้ยาทา ส่วนใหญ่เป็นยาน้ำ ต้องทาติดต่อกัน อย่างน้อย 1-2 เดือน วันละ 2 ครั้ง ยาที่นิยมใช้ ได้แก่ ซิลิเนียมซัลไฟด์ หรือ โซเดียมไทโอ-ซัลเฟต

ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอยู่นานเป็นปีและลุกลาม หรือเป็นๆ หายๆ มักกำเริบขึ้นขณะอากาศร้อนทำให้ดูไม่งาม ควรป้องกันโรคไม่ให้เป็นซ้ำซากโดยการกำจัดสาเหตุและปัจจัย ส่งเสริมการเกิดโรค

การป้องกัน

  • การรักษาความสะอาดของร่างกาย อาบน้ำฟอกสบู่ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช็ดตัวให้แห้ง การใช้สบู่ยาไม่มีประโยชน์ในการฆ่าเชื้อเกลื้อน
  • ไม่ใส่เสื้อที่อับชื้นอยู่เป็นเวลานานๆ
  • ขณะอากาศร้อนใส่เสื้อผ้าเนื้อบางและใส่สบาย หลีกเลี่ยงผ้าหนาทึบและคับเกินไป
  • เสื้อผ้า เครื่องใช้ ซักให้สะอาดและตากแดดให้แห้งเสมอ
  • เครื่องนอนหมั่นผึ่งแดด ห้องนอนควรเป็นห้องให้อากาศถ่ายเทสะดวก ซักผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนให้สะอาดและเปลี่ยนทุกสัปดาห์
  • เมื่อรู้ตัวว่าเป็นเกลื้อน ควรพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับคำแนะนำในการใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัยและได้ผล ควรใช้เวลาในการรักษาติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ เมื่อหายแล้ว อาจใช้ยาทาสัปดาห์ละครั้ง เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
  • สีผิวจะกลับมาเป็นปกติใช้เวลานาน 3-4 เดือน หากเวลาผ่านไปหลายเดือน รอยด่างยังคงมีอยู่ อาจเป็นการติดเชื้อซ้ำ ควรมาพบแพทย์ไม่ควรซื้อยามารักษาเอง โดยเฉพาะยารับประทานอาจเป็นอันตรายต่อตับ
  • หลังจากรักษาบางรายอาจมีรอยด่างเหลืออยู่นาน ในที่สุดจะค่อยๆ จางลง การตากแดดอาจช่วยให้รอยด่างจางเร็วขึ้น

โรคเกลื้อนอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยารับประทาน ควรใช้ยาทาเฉพาะที่ร่วมกับการปฏิบัติตน ที่ถูกต้อง

ผลิตและเผยแพร่โดย…
กลุ่มภารกิจวิชาการ ศูนย์โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save