คำแนะนำการปฏิบัติตนในการรักษาด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลต เอ ร่วมกับยา (PUVA Therapy)
การรักษาโรคผิวหนังด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลต เอ ร่วมกับยา เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคผิวหนังบางชนิด ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาทาชนิดต่างๆ ต้องใช้เวลาและต้องมารับการรักษาต่อเนื่องอย่างต่ำสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 3-4 เดือนเป็นอย่างน้อย
การรักษาด้วยแสงอัลตราไวโอเลต เอ มักใช้ร่วมกับสารซอราเลน (Psoralen) ที่นิยมใช้ คือ เมทอกซาเลน หรือ เมลาดินิน โดยยาจะทำปฏิกิริยากับผิวหนัง เมื่อมีแสงมากระตุ้น
โรคที่ใช้การรักษาด้วยแสงอัลตราไวโอเลตร่วมกับยา เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคด่างขาว มะเร็งผิวหนังบางชนิด โรคไวต่อแสงบางชนิด โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง เป็นต้น
การรักษานี้ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี สตรีมีครรภ์ หรือแม่ที่ให้นมบุตร ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน มีประวัติได้รับรังสี สารหนู ผู้ที่มีความผิดปกติของตับ ไตและผู้ป่วยที่มีโรคผิวหนังอื่นร่วมด้วย เช่น โรค เอสแอลอี
คำแนะนำก่อนการรักษา
- ผู้ป่วยต้องได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด
- ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจเลือด เพื่อหาความผิดปกติ การทำงานของตับ ไต เช่น CBC, LFT, BUN, Creatinin, FANA, LE cell เป็นต้น
- ผู้ป่วยต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษา เช่น วิธีการ ขั้นตอน สิ่งที่จะเกิดขึ้นขณะรับการรักษา หรือ ผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างครบถ้วนจากแพทย์และพยาบาลก่อนตัดสินใจรักษาและลงนามในใบยินยอมให้รักษา
การปฏิบัติตน
- ก่อนเริ่มการฉายแสง ต้องมีการทดสอบหาปริมาณแสงที่เหมาะสมกับสภาพผิวหนังของแต่ละคน เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการฉายแสง โดยผู้ป่วยต้องปฏิบัติ ดังนี้
- มารับการทดสอบและการอ่านผลให้ตรงตามวันและเวลาที่นัด เพื่อความถูกต้องในการแปรผล
- ต้องรับประทานยาก่อนทดสอบแสง 2 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานยาขณะท้องว่าง เพราะอาจทำให้มีอาการคลื่นไส้
- หากรับประทานยาอื่นๆ มา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะยาบางชนิดทำให้เกิดการแพ้แสงได้
- ในวันที่รับประทานยาเพื่อฉายแสง ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงแสงแดดตลอดทั้งวัน โดยการใส่แว่นตากันแดดที่ป้องกันยูวีเอได้เพื่อป้องกันต้อกระจกและใช้ยากันแดดทาในส่วนที่ต้องถูกแดด เพื่อลดความเสี่ยงจากมะเร็งผิวหนังในภายหลัง เนื่องจากยังมีตัวยาอยู่ในร่างกายที่ยังขับออกไม่หมด
- ขณะฉายแสง ต้องใส่แว่นตากันแสงและปกปิดผิวหนังบริเวณที่ไม่มีผื่น เช่น บริเวณใบหน้า อวัยวะเพศไม่ให้ถูกแสง เพื่อป้องกันอันตราย และผลข้างเคียงจากแสง เช่น อาการผิวแห้ง คัน ผื่นแดง ต้อกระจกและมะเร็งผิวหนังในภายหลัง
- ขณะฉายแสงถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด ใจสั่น จะเป็นลม หรือ มีอาการแสบคันมาก เป็นต้นให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและผลข้างเคียงจากแสง - หลังฉายแสง อาจมีอาการคันให้ทาครีมให้ความชุ่มชื้น ซึ่งแพทย์สั่งการรักษาไว้แล้ว หากมีอาการแสบร้อน เป็นผื่นแดงใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือผสมน้ำแข็งประคบบริเวณที่แสบแดง จะช่วยทุเลาอาการได้และแจ้งเจ้าหน้าที่ (แพทย์/พยาบาล) ทราบเมื่อมารับการฉายแสงครั้งต่อไป หรือมาก่อนวันนัดได้ทันที เพื่อประเมินอาการและพิจารณาปริมาณแสงที่จะฉายต่อไป ไม่ควรเกา หรือแกะให้เกิดแผลจะทำให้มีการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
- กรณีทายา จะทาบริเวณรอยโรคก่อนฉายแสงประมาณ 15 นาที และล้างออกทันทีหลังฉายแสง เพื่อป้องกันมิให้ผิวหนังมีปฏิกิริยาร่วมกับยาที่เหลืออยู่เมื่อถูกแสงแดด
เปรียบเทียบผลการรักษาผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน
ฉายแสง UVA ประมาณ 4 เดือน
ผลิตและเผยแพร่โดย…
กลุ่มงานรังสีชีววิทยา กลุ่มภารกิจวิชาการ
ศูนย์โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ท่านที่มีปัญหาเกี่ยวกับ ผิวหนังหรือโรคผิวหนัง
ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 0-7522-5541
หรือ http://www.trangskin.org
E-mail : admin@ trangskin.org