ประวัติโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง

โรคผิวหนังเป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับ 5 ของสาเหตุการป่วยของประชากรในประเทศไทย (จากสถิติ ปี 2536  ของกระทรวงสาธารณสุข) สถาบันโรคผิวหนังกรุงเทพฯ ได้เปิดบริการแก่ประชาชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ในปี พ.ศ. 2539 มีจำนวนผู้ป่วยนอกประมาณวันละ 400 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจากต่างจังหวัดร้อยละ 35-40 การขยายบริการในส่วนกลางออกไปอีกก็ไม่อาจครอบคลุมถึงประชาชนทั่วประเทศได้ อีกประการหนึ่ง โรคผิวหนังในแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาชีพ สภาพดินฟ้าอากาศ ฉะนั้นงานวิจัยด้านระบาดวิทยา สาเหตุของการเกิดเป็นโรค การรักษา และการป้องกันโรคจึงเป็นปัญหาในแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน สำหรับภาคใต้ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างจากภาคอื่น คือมีลักษณะชุ่มชื้นมีฝนตกเกือบตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ย 27.2 องศาเซลเซียส มี 2 ฤดู คือ ฤดูฝน และฤดูร้อนประชากรมีอาชีพทำสวน เหมืองแร่ ประมง

แพทย์หญิงปรียา กุลละวณิชย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังปีงบประมาณ 2530 –2545
ได้เล็งเห็นความจำเป็นให้มีโครงการขยายการบริการรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนัง และงานด้านวิชาการออกสู่ภูมิภาคซึ่งสอดคล้องกับแผนการขยายงานของสถาบันโรคผิวหนัง ได้กำหนดให้ภาคใต้เป็นภูมิภาคนำร่องในการขยายหน่วยงาน
โดยกำหนดพื้นที่จังหวัดตรังเป็นแหล่งที่ตั้ง เพื่อให้เป็นศูนย์กลางบริการรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนัง และวิชาการของภาคใต้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็วทั่วถึง ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเดินทางเข้าสู่ส่วนกลางและมีความมั่นใจว่าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ต้องขวนขวายไปรักษาที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อและความเชื่อถือที่ผิด ทำให้ได้รับยาที่เป็นอันตราย ในขณะเดียวกันการขยายงานด้านนี้จะเกิดประโยชน์ทางด้านวิจัยและการศึกษาฝึกอบรมให้มีขอบเขตกว้างขวาง และครอบคลุมทั่วประเทศ

โครงการจัดตั้งสถาบันโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ ได้รับการสนับสนุนจากฯพณฯ ชวน หลีกภัย
อดีตนายกรัฐมนตรี ดำเนินการโดยแพทย์หญิงปรียา กุลละวณิชย์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังในขณะนั้น ได้รับอนุมัติให้ใช้พื้นที่ ณ ทุ่งช่องกิว หรือทุ่งหวัง หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง มีพื้นที่โครงการทั้งสิ้น 65 ไร่ ดำเนินการก่อสร้างระยะแรกในพื้นที่ 25 ไร่ งบประมาณค่าก่อสร้างเป็นเงิน 119,200,000 บาทใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 680 วัน (เริ่มตั้งแต่ วันที่ 16 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 23 มกราคม 2540) มีอาคารใช้สอยประกอบด้วยอาคารอำนวยการและผู้ป่วยนอก 1 หลัง ผู้ป่วยใน 60 เตียง 1 หลัง โรงรถ-พัสดุ 1 หลัง โรงครัว-โรงอาหาร-โรงซักฟอก-นึ่งกลาง 1 หลัง อาคารพักแพทย์ 2 หลัง อาคารพักเจ้าหน้าที่ 2 หลัง บ้านพักระดับ 5-6 จำนวน 1 หลัง และมีวัตถุประสงค์การก่อตั้ง ดังนี้

          1. เพื่อขยายบริการตรวจรักษาและป้องกันโรคผิวหนังในภูมิภาค

          2. ทำการศึกษาวิจัยโรคผิวหนังที่เป็นปัญหาในภูมิภาค

          3. รวบรวมข้อมูลและการศึกษาด้านระบาดวิทยา

          4. สร้างเครือข่ายของการบริการ และให้การสนับสนุนงานด้านวิชาการแก่โรงพยาบาลในท้องถิ่น

          5. ให้การศึกษาฝึกอบรมบุคลากรด้านโรคผิวหนัง

          6. เป็นศูนย์ข้อมูลวิชาการวิจัย วินิจฉัย รักษาโรคผิวหนังทุกชนิด และโรคที่เป็นปัญหาในท้องถิ่น

ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดี สถาบันโรคผิวหนังจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติใช้ชื่ออาคารอำนวยการว่า อาคารเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บุคลากรสถาบันโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรังสืบไป

วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2539 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ และทำพิธีเปิดปฐมฤกษ์ ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2540 โดย พลเรือตรีศาสตราจารย์ นายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และเปิดให้บริการประชาชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2541 โดยมีนายแพทย์วรเชษฐ อนันตรังสี เป็นผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ (ปีงบประมาณ 2541 – 2562

ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2545 สถาบันโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง เนื่องจากการปรับปรุงโครงสร้างของกรมการแพทย์ ให้สอดคล้องกับการปฏิรูประบบราชการ

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ศูนย์โรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง ได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลโรคผิวหนัง
เขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง ตามคำสั่งกรมการแพทย์เรื่อง การเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบและเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่ไม่ปรากฏในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2552 โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

1. พัฒนาวิชาการและประเมินการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟู

สมรรถภาพผู้ป่วยโรคผิวหนัง ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ

2. ให้บริการทางการแพทย์ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคผิวหนังในเขตพื้นที่

ความรับผิดชอบ

3. จัดระบบการให้บริการเพื่อรองรับการส่งต่อผู้ป่วยโรคผิวหนัง

4. รวบรวมข้อมูล สถิติโรคผิวหนัง จัดทำทะเบียนในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ

5. สนับสนุนภารกิจด้านพัฒนาวิชาการ การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ การเพิ่มพูน

ความรู้และทักษะการปฏิบัติงาน ด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคผิวหนังใน

ลักษณะเป็นเครือข่ายของสถาบันโรคผิวหนัง

6. เขตพื้นที่รับผิดชอบ 14 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ชุมพร

สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

This image has an empty alt attribute; its file name is 8-4.png

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 5 ธันวาคม 2565 โรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง มีแพทย์หญิงนริศรา งามขจรวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง

          วันที่ 6 ธันวาคม 2565 – 23 เมษายน 2566 แพทย์หญิงมิ่งขวัญ  สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังในขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง อีกหน้าที่หนึ่ง

ปัจจุบันโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง มี ดร. นายแพทย์วรพล  เวชชาภินันท์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ด้านเวชกรรม สาขาตจวิทยา รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง (24 เมษายน 2566 – ปัจจุบัน) แบ่งโครงสร้างการบริหารภายในเป็น 4 ภารกิจ ประกอบด้วย ภารกิจด้านอำนวยการ ภารกิจด้านวิชาการและการแพทย์ ภารกิจด้านการพยาบาล และภารกิจด้านการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save