การศึกษาชนิดของน้ำที่มีคุณภาพเหมาะสมในการผลิตสบู่เหลว L-soap
บทคัดย่อ
คณะผู้วิจัย ปิยะนุช สามทิพย์, นพดล จริงจิตร, ภิญญา รักษาสังข์
โรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง ปี 2555
การศึกษาในครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลองในห้องปฎิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชนิดของน้ำที่มีคุณภาพเหมาะสมในการผลิตสบู่เหลวL-soap ของโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จังหวัดตรัง โดยการประเมินคุณภาพทั้งทางกายภาพ ทางเคมี และทางจุลชีพ ของน้ำที่เลือกมาใช้ในการผลิตสบู่เหลวจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ น้ำดื่มแบบถัง 20 ลิตร ที่ใช้ในสำนักงาน น้ำดื่มแบบขวดใสที่ขายตามท้องตลาด น้ำที่ผ่านการกรองด้วยวิธี Reverse osmosis (R.O.) น้ำดื่มที่ผ่านกระบวนการต้มเดือด และน้ำกลั่น และนำน้ำทั้ง 5 ชนิดนี้มาผลิตสบู่เหลว L-soap แล้วประเมินคุณภาพทั้งทางกายภาพ ทางเคมี และทางจุลชีพ ของสบู่เหลว L-soap จำนวน 5 ตัวอย่างที่เตรียมได้ จากนั้นประเมินคุณภาพทางจุลชีพของสบู่เหลว L-soap จำนวน 5 ตัวอย่างที่เตรียมได้ ซ้ำอีก 2 ครั้ง ที่ระยะเวลา 3 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ
ผลการประเมินคุณภาพของน้ำที่เลือกมาใช้ในการผลิตสบู่เหลว L-soap พบว่า น้ำทั้ง 5 ชนิด ซึ่งได้แก่ น้ำดื่มแบบถัง 20 ลิตร ที่ใช้ในสำนักงาน น้ำดื่มแบบขวดใสที่ขายตามท้องตลาด น้ำที่ผ่านการกรองด้วยวิธี Reverse osmosis (R.O.) น้ำดื่มที่ผ่านกระบวนการต้มเดือด และน้ำกลั่น มีลักษณะทางกายภาพที่ดีเหมือนกัน คือ มีสีขาวใส ไม่ขุ่น ไม่มีกลิ่น และมีค่าการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเหมือนกัน (ค่าการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ตามมาตรฐานของน้ำบริสุทธิ์4 คือ ไม่เกิน 100โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร) แต่มีค่าความเป็นกรด-ด่างแตกต่างกัน โดยน้ำที่มีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีเพียง 1 ชนิดเท่านั้น คือ น้ำดื่มแบบถัง 20 ลิตร ที่มีค่าความเป็นกรด-ด่าง เท่ากับ 7.78 (ค่าความเป็นกรด-ด่างตามมาตรฐานของน้ำบริสุทธิ์3 อยู่ระหว่าง 5-8)
ผลการประเมินคุณภาพของสบู่เหลว L-soap จำนวน 5 ตัวอย่างที่เตรียมจากน้ำทั้ง 5 ชนิดข้างต้น พบว่า สบู่เหลว L-soap ทั้ง 5 ตัวอย่าง มีลักษณะทางกายภาพที่ดี คือ มีสีชมพูใส เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แยกชั้น มีกลิ่นหอม และมีความคงตัวทางกายภาพที่ดี มีความเป็นกรด-ด่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (ค่าความเป็นกรด-ด่าง ตามมาตรฐานของสบู่ อยู่ระหว่าง 8-10) โดยสบู่เหลว L-soap ที่ใช้น้ำกลั่นในการผลิต มีค่าความเป็นกรด-ด่างเหมาะสมที่สุด (ค่าความเป็นกรด-ด่าง เท่ากับ 7.77) และรองลงมาคือ สบู่เหลว L-soap ที่ใช้น้ำที่ผ่านการกรองด้วยวิธี Reverse osmosis ในการผลิต (ค่าความเป็นกรด-ด่าง เท่ากับ 8.28) และสบู่เหลว L-soap ทั้ง 5 ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตลอดการทดลองคือ ที่ระยะเวลา 0 เดือน, 3 เดือน และ 6 เดือน ตามลำดับ (ข้อกำหนดจุลินทรีย์ตามมาตรฐาน7 คือจำนวนแบคทีเรีย ยีสต์ และราทั้งหมด ต้องไม่เกิน 1×103 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร)
สรุปได้ว่าน้ำที่มีคุณภาพเหมาะสมที่สุดในการผลิตสบู่เหลว L-soap ให้มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานที่กำหนด คือ น้ำกลั่น แต่เมื่อพิจารณาในเรื่องความคุ้มค่าในการลงทุน พบว่า การใช้น้ำกลั่นในการผลิตยามีต้นทุนสูงมาก และใช้เวลาหลายชั่วโมงในการกลั่น ดังนั้นน้ำที่ควรเลือกเป็นอันดับ 2 รองลงมาคือ น้ำที่ผ่านการกรองด้วยวิธี Reverse osmosis (R.O.) เมื่อพิจารณาในด้านความคุ้มค่าในการลงทุน และด้านคุณภาพสบู่เหลว L-soap เนื่องจากน้ำที่ใช้กระบวนการกรองแบบ Reverse osmosis (R.O.) มีต้นทุนในการผลิตและใช้เวลาในการผลิตน้อยกว่าการกลั่นมาก
คำสำคัญ : ชนิดของน้ำ, การผลิตยา, สบู่เหลว L-soap